ถ้าคุณมีอาการปวดหลังส่วนล่างหรือสะโพกเรื้อรัง การฉีดยาที่ข้อต่อกระดูกเชิงกราน (SI Joint) เป็นทางเลือกสำหรับการลดอาการปวดได้อย่างมีประสิทธิภาพ ลองมาทำความรู้จักการฉีดยาตำแหน่งนี้กัน
อาการปวดข้อต่อกระดูกเชิงกรานคืออะไร?
ข้อต่อกระดูกเชิงกราน (Sacroiliac Joint) เป็นข้อต่อที่เชื่อมระหว่างกระดูกเชิงกราน 2 ชิ้น อาการปวดในบริเวณนี้มักเกิดจาก
- การอักเสบหรือการเสื่อมของข้อต่อ
- การบาดเจ็บที่หลังส่วนล่างหรืออุ้งเชิงกราน
- การตั้งครรภ์ (เนื่องจากการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนและการขยายตัวของเชิงกราน)
- โรคข้ออักเสบ
ซึ่งอาการปวดข้อต่อกระดูกเชิงกรานจะรู้สึกปวดบริเวณหลังส่วนล่าง สะโพก ขาหนีบ ก้น และอาจร้าวลงขา แต่มักไม่ปวดร้าวต่ำกว่าเข่า
ผู้ใดเหมาะกับการฉีดยาเข้าข้อต่อกระดูกเชิงกราน?
- ผู้ป่วยที่มีอาการปวดบริเวณหลังส่วนล่างร้าวลงอุ้งเชิงกราน สะโพก
- กดเจ็บหรือปวดเฉพาะบริเวณข้อต่อกระดูกเชิงกราน
- ผู้ที่รักษาด้วยวิธีการอื่นๆเช่น การทำกายภาพบำบัด และมีอาการปวดไม่ดีขึ้น
ระยะเวลาในการทำหัตถการ
ใช้ระยะเวลาในการทำหัตถการโดยประมาณ 15-20 นาที โดยผู้ป่วยจะได้รับยาชาเฉพาะที่ก่อนทำหัตถการเพื่อลดความรู้สึกเจ็บขณะทำหัตถการ
ขั้นตอนในการทำหัตถการ
- ผู้ป่วยนอนคว่ำบนเตียง
- แพทย์จะใช้เครื่อง X-ray หรืออัลตราซาวด์เพื่อยืนยันตำแหน่งเข็มที่ถูกต้อง และตรงตำแหน่งของข้อต่อ
- แพทย์ฉีดยาชา และ/หรือ สเตียรอยด์ที่ข้อต่อเชิงกรานในบริเวณที่มีอาการปวด
ผลลัพธ์หลังการทำหัตการ
- หากผู้ป่วยมีอาการปวดลดลงทันทีหลังฉีด แสดงถึงข้อต่อเชิงกรานมีปัญหาและเป็นสาเหตุของการปวด
- ฤทธิ์ของยาชาจะคงอยู่ประมาณ 2-3 ชั่วโมง
- ฤทธิ์การลดปวดของสเตียรอยด์จะออกฤทธิ์เต็มที่ประมาณ 1 สัปดาห์
การดูแลตนเองหลังการทำหัตถการ
- หลีกเลี่ยงการทำกิจกรรมที่ออกแรงมากหรือยกของหนัก 1 วัน
- หลังทำอาจมีอาการปวดบริเวณที่ฉีดเล็กน้อย และอาการจะดีขึ้นภายใน 1-2 วัน
เรียบเรียงโดย แพทย์หญิง รรินทร ชุมสาย ณ อยุธยา แพทย์เฉพาะทางด้านการระงับปวด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายได้ที่ PS Center Pain Clinic
โทร 02-125-3959, 098-195-0991