หากคุณมีอาการปวดหลังส่วนล่างร้าวลงขา ยืนหรือเดินลำบาก การฉีดยาเข้ารูรากประสาท หรือ TFESI อาจเป็นทางเลือกที่มีประสิทธิภาพในการลดอาการปวด
อาการปวดหลังส่วนล่างมีกี่ประเภท?
อาการปวดหลังส่วนล่างจะแบ่งออกได้ตามบริเวณที่ปวด 2 ประเภทได้แก่
- ปวดหลังเฉพาะหลังส่วนล่าง: อาการปวดส่วนใหญ่เป็นบริเวณหลังส่วนล่างเท่านั้น อาจมีปวดร้าวลงสะโพกบ้างแต่ไม่ลงถึงเข่า มักเกิดจากการอักเสบหรือการเสื่อมสภาพของข้อข้อต่อหลังส่วนล่าง (Facet joint)
- ปวดหลังส่วนล่างร่วมกับปวดร้าวลงขา: มีอาการปวดหลังส่วนล่าง และปวดร้าวลงขาโดยเฉพาะปวดร้าวต่ำกว่าเข่า มักเกิดจากการระคายเคืองเส้นประสาทที่มาเลี้ยงขา ซึ่งการรักษาด้วย Lumbar TFESI เป็นการรักษาที่มีประสิทธิภาพในการรักษาอาการปวดประเภทนี้ได้เป็นอย่างดี
ผู้ที่เหมาะกับการรักษาด้วยการฉีดยาสเตียรอยด์เข้ารูรากประสาทหลังส่วนล่าง (TFESI)
ผู้ที่มีอาการปวดหลังร้าวลงขา (Radicular Pain) จากการกดทับเส้นประสาท โดยเฉพาะในผู้ที่มีภาวะดังนี้
- หมอนรองกระดูกเคลื่อนทับเส้นประสาท (Herniated discs)
- โพรงกระดูกสันหลังส่วนล่างตีบแคบ (Spinal Stenosis)
- อาการปวดจากเส้นประสาทไซอาติก (Sciatica)
หมายเหตุ* ก่อนทำหัตถการ ผู้ป่วยจำเป็นต้องมีผล MRI กระดูกสันหลังส่วนล่างเพื่อวางแผนการรักษาอย่างถูกต้อง
การฉีดยาสเตียรอยด์เข้ารูรากประสาทหลังส่วนล่าง (TFESI) คือ?
การฉีดยาสเตียรอยด์เข้ารูรากประสาทหลังส่วนล่าง (TFESI) เป็นหัตถการชนิดที่ไม่ใช่การผ่าตัด โดยแพทย์จะทำการฉีดยาชาร่วมกับยาสเตียรอยด์เข้าสู่รูรากประสาทใกล้เส้นประสาทที่ถูกกดทับ เพื่อช่วยลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวด
ระยะเวลาในการทำหัตถการ
ใช้ระยะเวลาในการทำหัตถการโดยประมาณ 15-20 นาที โดยผู้ป่วยจะได้รับยาชาเฉพาะที่ก่อนทำหัตถการเพื่อลดความรู้สึกเจ็บขณะทำหัตถการ
ขั้นตอนการทำหัตถการ
- ให้ผู้ป่วยนอนคว่ำบนเตียง ไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ เนื่องจากเป็นการทำหัตถการเล็ก ใช้เวลาสั้น
- แพทย์จะใช้เครื่องเอกซเรย์ฟลูโรสโคปและสารทึบรังสี เพื่อยืนยันตำแหน่งเข็มที่ถูกต้อง และตรงตำแหน่งของของรูรากประสาท
- แพทย์ฉีดยาชาและยาสเตียรอยด์เข้ารูรากประสาท ขั้นตอนนี้มักทำให้รู้สึกไม่สบายเพียงเล็กน้อยเท่านั้น
ผลลัพธ์หลังการทำหัตการ
- ยาชาจะช่วยลดอาการปวดได้ทันที และฤทธิ์ของยาชาอยู่นาน 4–6 ชั่วโมง
- ยาสเตียรอยด์จะเริ่มออกฤทธิ์ลดการอักเสบเต็มที่ภายใน 1 สัปดาห์ ขึ้นไป
- ผู้ป่วยที่ตอบสนองต่อกการรักษาด้วยสเตียรอยด์ดีจะลดอาการปวดได้นานกว่า 3 เดือนขึ้นไป
คำแนะนำหลังการรักษา
- งดขับรถและกิจกรรมที่ออกแรงมากหรือยกของหนัก 1 วัน เนื่องจากอาจรู้สึกชาและอ่อนแรงที่ขาเล็กน้อย
- สามารถกลับไปทำกิจกรรมประจำวันได้ในวันถัดไป
- หลังทำอาจมีอาการระบมเล็กน้อยบริเวณที่ฉีดยา ซึ่งมักจะหายไปใน 1–2 วัน
วิธีป้องกันอาการปวดหลังร้าวลงขา
- ฝึกการยืนและนั่งในท่าทางที่ถูกต้องในชีวิตประจำวัน
- ออกกำลังกายเพื่อเสริมความแข็งแรงของกล้ามเนื้อหลังและแกนกลาง
- พักยืดเหยียด เป็นระยะๆ หากต้องนั่งหรือยืนเป็นเวลานาน
- ใช้เตียงนอนและเก้าอี้ที่เหมาะสมกับสรีระของร่างกาย
เรียบเรียงโดย แพทย์หญิง รรินทร ชุมสาย ณ อยุธยา แพทย์เฉพาะทางด้านการระงับปวด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายได้ที่ PS Center Pain Clinic
โทร 02-125-3959, 098-195-0991