คุณมีอาการปวดคอร้าวลงแขน ที่ทั้งทานยาและกายภาพบำบัดแล้วก็ยังไม่ดีขึ้นหรือเปล่า? การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าช่องเหนือโพรงประสาทบริเวณคอ (Cervical ESI) อาจเป็นตัวช่วยที่คุณกำลังมองหา
อาการปวดร้าวจากเส้นประสาทต้นคอคืออะไร?
อาการนี้เกิดจากเส้นประสาทบริเวณคอถูกกดทับหรือเกิดการระคายเคือง มักมีสาเหตุมาจากหมอนรองกระดูกสันหลังคอปลิ้นทับเส้นประสาท หรือโพรงกระดูกสันหลังตีบแคบ (Spinal Stenosis) ซึ่งผู้ป่วยจะมีอาการดังนี้
- ปวดคอร้าวลงแขน: อาการปวดที่เริ่มจากคอและร้าวไปที่ไหล่ แขน หรือมือ ปวดแปล้บๆ เป็นๆ หายๆ
- ชาหรืออ่อนแรง: อาการชาหรือรู้สึกเสียวซ่าในแขนและมือ อาจมีอาการกล้ามเนื้ออ่อนแรงร่วมด้วย
การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าช่องเหนือโพรงประสาทบริเวณคอคือ?
การฉีดยาสเตียรอยด์เข้าช่องเหนือโพรงประสาทบริเวณคอเป็นการรักษาแบบไม่ต้องผ่าตัด โดยการฉีดยาชาและสเตียรอยด์เข้าไปในช่องเหนือโพรงประสาทบริเวณคอเพื่อลดการอักเสบและบรรเทาอาการปวด การรักษานี้มีเป้าหมายที่เส้นประสาทที่ระคายเคืองโดยตรง ช่วยให้ผู้ป่วยมีอาการดีขึ้นและเคลื่อนไหวคอได้ดียิ่งขึ้น
ใครบ้างที่เหมาะกับการรักษา?
การรักษานี้เหมาะสำหรับผู้ที่มีอาการดังนี้
- ปวดคอร่วมกับอาการปวดร้าวลงแขน
- มีภาวะหมอนรองกระดูกกดทับเส้นประสาท หรือเส้นประสาทถูกกดทับ
หมายเหตุ* ผู้ป่วยต้องมีผล MRI บริเวณกระดูกคอ (Cervical spine MRI) ก่อนเพื่อวินิจฉัยและวางแผนการรักษาอย่างแม่นยำ
ระยะเวลาในการทำหัตถการ
ประมาณ 15-20 นาที ไม่จำเป็นต้องดมยาสลบ โดยผู้ป่วยจะได้รับการฉีดยาชาเฉพาะที่เท่านั้น
ขั้นตอนการทำหัตถการ
- ผู้ป่วยนอนคว่ำบนเตียง แพทย์ฉีดยาชาเฉพาะที่บริเวณผิวหนัง
- แพทย์ใช้เครื่องเอกซเรย์ร่วมกับสารทึบรังสีเพื่อระบุตำแหน่งที่เหมาะสม
- แพทย์ฉีดยาสเตียรอยด์ผสมยาชาเข้าไปในบริเวณช่องเหนือโพรงประสาทเอปิดูรอล
ผลลัพธ์หลังการรักษา
- ผู้ป่วยจะหายปวดร้าวลงแขนและเคลื่อนไหวคอได้ดีขึ้นทันทีหลังการฉีดยา ด้วยผลของยาชา
- ยาสเตียรอยด์จะใช้เวลาในการออกฤทธิ์เต็มที่ใน 1 สัปดาห์ หากผู้ป่วยตอบสนองต่อการฉีดสเตียรอยด์ดีจะลดอาการปวดได้นานกว่า 3 เดือน
คำแนะนำหลังการทำหัตถการ
- พักผ่อนและหลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ใช้แรงมาก ในวันที่ทำหัตถการ
- งดการขับรถภายในวันเดียวกันกับที่ทำหัตถการ เนื่องจากอาจมีอาการมึนศีรษะเล็กน้อยหลังทำ
- สามารถกลับไปทำกิจกรรมตามปกติได้ในวันถัดไป
- อาจมีระบมเล็กน้อยบริเวณที่ฉีดยา ซึ่งอาการจะหายไปใน 1-2 วัน
วิธีป้องกันอาการปวดคอ
- รักษาท่าทางการใช้ชีวิตประจำวันให้เหมาะสม โดยเฉพาะขณะทำงานหน้าคอมพิวเตอร์หรือใช้โทรศัพท์
- ออกกำลังกายที่ช่วยเสริมความแข็งแรงแกนกลางของร่างกายและยืดกล้ามเนื้อบริเวณคอเป็นประจำ
- ใช้เก้าอี้ที่เหมาะสมและหมอนที่รองรับกระดูกสันหลังอย่างถูกต้อง
เรียบเรียงโดย แพทย์หญิง รรินทร ชุมสาย ณ อยุธยา แพทย์เฉพาะทางด้านการระงับปวด
สอบถามข้อมูลเพิ่มเติม หรือนัดหมายได้ที่ PS Center Pain Clinic
โทร 02-125-3959, 098-195-0991